วิธีเล่นหุ้นเบื้องต้น (สำหรับมือใหม่)

อ่าน 1985 ครั้ง

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

คำถามแรกครับ ถ้าต้องการเล่นหุ้นต้องทำอย่างไร

ก่อนอื่นถ้าต้องการเล่นหุ้น ต้องมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ครับ คล้าย ๆ กับเราไปเปิดบัญชีกับธนาคารนั่นแหละครับ มีโบรกเกอร์หรือนายหน้าหลายแห่งที่ให้บริการผู้ลงทุนอยู่ครับ ซึ่งตรงนี้ โดนบังคับเลยครับว่าต้องเปิดบัญชีหลักทรัพย์ผ่านโบรกเกอร์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น อยู่ ๆ จะไปเปิดบัญชีเทรดกับตลาดหลักทรัพย์เอง ไม่ได้ครับ

โดยเอกสารที่จำเป็นสำหรับการเปิดบัญชีทั่ว ๆ ไปก็คือ
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- เอกสารแสดงฐานะทางการเงิน (เพื่อให้โบรกเกอร์ทราบว่า ฐานะทางการเงินของเราเป็นอย่างไร, สมควรได้วงเงินในการเทรดเท่าไหร่ครับ)
- สมุดบัญชีธนาคารออมทรัพย์ (เพื่อใช้ชำระเงินค่าซื้อ และรับเงินค่าขายหลักทรัพย์ครับ) ทางโบรกเกอร์จะมีการตกลงกับทางธนาคารเองครับ

** แนะนำให้เอาหลักฐานตัวจริงไปถ่ายเอกสารที่บริษัทฯ ได้เลยครับ เพราะทางบริษัทฯ จะใช้กี่ชุดก็จะจัดการเองครับ

โดยบัญชีหลัก ๆ ที่นักลงทุนควรทราบจะมีอยู่ 4 บัญชีครับ
1. บัญชีเงินสด (Cash ) ซึ่งเป็นบัญชีที่กำหนดวงเงินไว้นั้นแหละครับ ว่าลูกค้าแต่ละคนที่เข้ามาเปิดบัญชี จะได้วงเงินในการเทรดเท่าไหร่ (จากหลักฐานที่ลูกค้านำมาแสดงนั่นแหละครับ) ซึ่งต้องมีการวางหลักประกัน 15% เพื่อซื้อหลักทรัพย์ด้วยครับ

2. บัญชีเงินฝาก (Cash Balance) เป็นบัญชีที่ไม่มีวงเงินตายตัวครับ วงเงินที่สามารถซื้อได้ จะเป็นไปตามจำนวนเงินฝากที่ลูกค้าฝากไว้กับทางโบรกเกอร์ครับ เช่น ลูกค้าฝากเงินไว้กับบริษัท 1,000,000 บาท ก็จะซื้อได้ตามจำนวนที่ฝากไว้ครับ คือ 1,000,000 บาท เมื่อเปลี่ยนจากเงินสดไปเป็นหุ้นแล้ว จำนวนวงเงินก็ลดลงตามไปครับ เช่น ซื้อหุ้นไป 300,000 บาท วงเงินก็จะลดลงเหลือ 700,000 บาทด้วยครับ

3. บัญชีมาร์จิ้น (Credit Balance) อันนี้เหมือนกับการกู้เงินเพื่อซื้อหุ้นนั่นแหละครับ รายละเอียดค่อนข้างเยอะ และในตอนนี้โบรกเกอร์ต่าง ๆ ก็จะไม่เปิดให้กับลูกค้าแล้วครับ เพราะแม้แต่ TSFC ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ใหญ่ตอนนี้ ยังเอาตัวไม่รอดเลยครับ

4. บัญชีอนุพันธ์ (Delivertive) เป็นบัญชีเพื่อเทรดตราสารอนุพันธ์โดยเฉพาะครับ

คำถามต่อไปครับ ซื้อหุ้นเมื่อไหร่ จึงจะได้สิทธิ ซึ่งสิทธิในที่นี้รวมทั้ง ปันผล, หุ้นเพิ่มทุน, วอร์แรนท์, สิทธิเข้าประชุม ฯลฯ

อย่างแรกต้องทำความเข้าใจก่อนครับว่า เมื่อบริษัทฯ ใดต้องการจะจ่ายเงินปันผลหรือต้องการที่จะให้สิทธิอะไรกับผู้ถือหุ้น จะต้องมีการทำรายชื่อผู้ที่มีสิทธินั้น ๆ ซึ่งที่เรารู้จักกันดีคือ วันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพื่อ..... เพื่อ... รับสิทธิอะไรก็ตามแต่ครับ ซึ่งหมายความว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ที่รายชื่อ ณ วันปิดสมุดทะเบียนฯ เท่านั้นที่จะได้สิทธินั้นครับ

ตรงนี้แหละครับที่เราจะทราบว่าเราต้องซื้อหุ้นเมื่อไหร่ถึงจะได้สิทธิ เช่น บริษัทฯ A บอกว่าปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับเงินปันผลวันที่ 27/2/2009 เราก็นับวันเลยครับ เมื่อปิดสมุดทะเบียน 27/2/2009 ให้นับก่อนหน้าไปสามวันทำการ ย้ำนะครับว่าสามวันทำการ ไม่นับวันหยุด เราก็จะได้วันที่หุ้นขึ้นเครื่องหมาย XD ซึ่งตรงนี้ใช้ได้หมดครับ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายอะไร ซึ่งเดี๋ยวผมจะแจ้งให้ทราบครับ ว่าเครื่องหมายแต่ละอย่างหมายถึงอะไร แปลว่าหุ้น A จะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 24/2/2009 ซึ่งหมายความว่าในวันที่ขึ้นเครื่องหมายนั้น ผู้ถือหุ้นจะไม่ได้สิทธินั้นแล้วครับ ถ้าต้องการได้เงินปันผลของบริษัท A จะต้องซื้อหุ้นอย่างช้าในวันที่ 23/2/2009 ครับ และต้องถือหุ้นจนสิ้นวันที่ 23/2/2009 ครับ แม้ว่า ในวันขึ้นเครื่องหมาย XD คุณจะขายหุ้นออกไปหมดก็ตาม ก็จะได้รับเงินปันผลอยู่ดี เพราะชื่อของคุณได้เข้าไปในสมุดทะเบียนผู้ถือห้นเพื่อรับเงินปันผลแล้วนั้นเองครับ

เครื่องหมายต่าง ๆ ครับ
XD =ปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับเงินปันผล
XW =ปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับวอร์แรนท์
XR = ปิดสมุดทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเพิ่มทุน
XM = ปิดสมุดทะเบียนเพื่อเข้าประชุมผู้ถือหุ้น
XA = ปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับสิทธิ หนึ่งอย่างขึ้นไป (เช่น รับสิทธิเพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุน และ รับวอร์แรนท์)

สำหรับท่านที่ต้องการดูปฏิทิน ตามลิ้งค์นี่ไปครับ

คำถาม ทำไมบริษัทต่าง ๆ จึงต้องนำหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

อันนี้ลองสมมุติตัวเองเป็นเจ้าของบริษัทฯ ๆ นึงนะครับ ซึ่งดำเนินกิจการไปเรื่อย ๆ วันนึง ต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้นจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามแต่ซึ่งถ้าโดยหลักการแล้วมีสองทางให้เลือก

1. กู้จากแหล่งเงินกู้ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร หรือออกตราสารหนี้ หรือที่เรียกว่า หุ้นกู้ นั่นแหละครับ ซึ่งตรงนี้ บริษัทฯ จะมีสภาพเป็นลูกหนี้ทันที และยังมีภาระคือ ภาระดอกเบี้ยครับ

2. หาผู้ร่วมทุน คือการเอาหุ้นไปขายนั่นแหละครับ คราวนี้ก็อยู่ที่ว่าจะไปขายให้ใคร แล้วแต่คุณครับ แต่วิธีที่ทำกันคือ มาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ครับ คราวนี้คุณก็เพิ่มทุน แล้วเอาทุนหรือ หุ้นที่เพิ่มขึ้นมา เข้ามากระจายในตลาดหลักทรัพย์ กำหนดราคาขายว่าจะขายในราคาเท่าไหร่ ถ้าผู้ลงทุนพอใจ ก็ซื้อหุ้นคุณไป ซึ่งตรงนี้ภาระของคุณคือการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และผู้ถือหุ้นก็จะเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกับคุณ และได้รับผลประโยชน์จากเงินปันผล และส่วนต่างของราคาหุ้น ซึ่งคุณไม่ต้องจ่ายปันผลทุกปีก็ได้ครับ ถ้าเห็นว่ากำไรที่ได้มาต้องการนำไปขยายกิจการ และผู้ถือหุ้นก็จะมีสถานะเป็นผู้ร่วมทุน ไม่ใช่เจ้าหนี้ครับ

ยกตัวอย่าง เอาแบบสด ๆ ซิง ๆ เลยครับ หุ้น AIM ที่เข้าเทรดวันที่ 19/2/2009 มีราคาพาร์คือ ราคาทุนจดทะเบียนหุ้นละ 1 บาท แต่ทางบริษัทฯ ขายหุ้นให้กับผู้จองหุ้นก่อนเข้าตลาดในราคาหุ้นละ 1.10 บาท ซึ่งตรงนี้ทางบริษัทได้กำไรไปแล้วหุ้นละ 0.10 บาท แล้วพอหุ้นเข้าเทรดในตลาดได้ราคา 1.65 บาท (ในราคาเปิด) แปลว่าผู้จองซื้อได้กำไรส่วนต่างราคาหุ้นแล้วหุ้นละ 0.55 บาท

คำถามนี้เจอบ่อยมากครับ จะเป็นโบรกเกอร์ ต้องทำอย่างไร

ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจผิดคิดว่า มาร์ฯ หรือ มาร์เกตติ้ง ที่เรียกกันว่าเจ้าหน้าที่การตลาดกับ โบรกเกอร์ คืออันเดียวกัน ต้องขอทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า โบรกเกอร์คือ บริษัทฯ หลักทรัพย์ ไม่ใช่ตัวคน การจะเป็นโบรกเกอร์ต้องมีใบอนุญาตการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ครับ ซึ่งตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ออกใหม่ให้แล้วครับ ต้องไปหาใบอนุญาตฯ จากบริษัทหลักทรัพย์ที่ปิดตัวไปนั่นแหละครับ ซื้อขายกันเป็นหลัก หลายล้านบาทครับ

คราวนี้มาดูความหมายที่ต้องการครับ มาร์ฯ หรือ เจ้าหน้าที่การตลาดคือ ผู้มีหน้าที่ติดต่อกับผู้ลงทุน โดยต้องไปสอบเพื่อเอาใบอนุญาตเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนโดยหลัก ๆ ก็คือ เจ้าหน้าที่การตลาดตราสารทุน ครับ รายละเอียดการสอบไปตามลิ้งค์นี่เลยครับ

เจ้าหน้าที่การตลาด จะมีรายได้จากเงินเดือน และ หรือ ค่าคอมมิชชั่นที่ลูกค้าที่ตัวเองดูแล ซื้อหรือขายหุ้นครับ

ค่าธรรมเนียมในการซื้อและขายหุ้นเป็นอย่างไร

โดยปกติ ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นรายได้หลักของโบรกเกอร์เลยครับ ซึ่งจะเรียกเก็บจากลูกค้าที่มีการซื้อและขายหลักทรัพย์ครับผมซึ่งตอนนี้ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อและขาย ผ่านสองช่องทางหลัก ๆ ครับ

1. ผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด คือ ลูกค้านั่งในห้องค้าแล้วตะโกนบอกมาร์ฯ ให้คีย์ออร์เดอร์ให้ หรือโทรศัพท์ให้มาร์ฯ คีย์ออร์เดอร์ให้ครับ ซึ่งค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะเก็บ 0.25% ของมูลค่าการซื้อและขาย โดยการซื้อจะบวกค่าธรรมเนียมเพิ่มไปกับจำนวนเงินที่ชำระ และถ้าขายก็จะหักออกจากจำนวนเงินที่รับครับ และยังมี ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดจากค่าธรรมเนียมนะครับ ไม่ใช่มูลค่าการซื้อขาย เช่น ซื้อหุ้น 100,000 บาท ก็จะต้องชำระเงิน 100,000 + 250 + 17.50 = 100,267.50 บาทครับ แต่ถ้าขาย 100,000 ก็จะได้รับเงิน 100,000 - 250 - 17.50 = 99,732.50 บาท ครับผม

2. ผ่านระบบอินเตอร์เนต ซึ่งตรงนี้ค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บแต่ละโบรกเกอร์จะไม่เท่ากันครับ ต้องสอบถามรายละเอียดจากแต่ละบริษัทเองครับ โดยส่วนใหญ่จะถูกว่าซื้อขายผ่านมาร์ฯ ครับ

ปล. ที่สำคัญต้องสอบถามค่าคอมฯ ขั้นต่ำด้วยนะครับว่าแต่ละโบรกเกอร์มีเงื่อนไขอย่างไรครับผม

เครื่องหมาย H และ SP คืออะไร

ทั้งสองเครื่องหมายเป็นเครื่องหมายเป็นเครื่องหมายที่ทางตลาดฯ แจ้งให้ผู้ลงทุนได้ทราบว่าหลักทรัพย์นั้นโดนพักการซื้อขายด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามแต่
โดย เครื่องหมายแต่ละตัวจะมีความหมายดังนี้ครับ

H = Halt จะเป็นการพักการซื้อขายหลักทรัพย์เพียงชั่วขณะ คือ จะมีการพักการซื้อขายหลักทรัพย์ตัวนั้นอย่างมาก 1 ช่วงเวลาการซื้อขาย คือ ช่วงเช้าหรือ ช่วงบ่ายเพียง 1 ช่วงเท่านั้นครับ (แต่อาจจะขึ้นเครื่องหมาย H ต่อในช่วงบ่ายก็ได้ครับ แต่จะต้องแจ้งอีกครั้งนึงครับ) หรือพักการซื้อขายเพียง 1 ชม. ก็ได้ครับ ซึ่งกรณีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการพักการซื้อขายเมื่อบริษัทฯ มีข่าวลือหรือข่าวที่กระทบกับบริษัทฯ ทางตลาดฯ ก็เลยพักการซื้อขายเพื่อให้ทางบริษัทชี้แจง เมื่อบริษัทชี้แจงข้อมูลมาแล้วก็จะซื้อขายตามปกติต่อไปครับ

SP = Suspension เป็นการพักการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างน้อย 1 วันทำการครับ หมายความว่าถ้าหลักทรัพย์ตัวไหนเจอขึ้นเครื่องหมายนี้ตอนเช้าวันไหนแล้ว แปลว่าวันนั้นทั้งวัน หลักทรัพย์ตัวนั้นจะไม่มีการซื้อขายอีกแล้วครับ ซึ่งบางตัวโดนกันเป็นปี ๆ เลย ฮ่าฮ่าฮ่า ซึ่งเกิดเหตุจากหลายกรณีครับ เช่น ไม่ส่งงบการเงินตามเวลาที่กำหนด หรือทางตลาดต้องการข้อมูล แต่ทางบริษัทไม่ให้ หรือเข้าข่ายตามที่ตลาดฯ กำหนด ก็เลยขึ้นเครื่องหมายครับ

เวลาเปิดปิดของตลาดหลักทรัพย์ คือเวลาไหนกันแน่

มาเลยครับ จะอธิบายเวลาเปิดปิดของตลาดฯ ให้ทราบกันครับ โดยจะแบ่งเป็นเวลา 2 ช่วงครับ

ช่วงเช้า แบ่งได้ 2 ช่วงครับ

- Pre Open 09.30 น. - [09.55, 09.56, 09.57, 09.58, 09.59, 10.00] น. เป็นเวลาก่อนเปิดตลาดจริงครับ โดยตลาดฯ จะรับออร์เดอร์จากโบรกเกอร์ ต่าง ๆ และจะทำการสุ่มราคาเปิดซึ่งมีหลักเกณฑ์อีกครับ แต่ตรงนี้ยังไม่อธิบายครับ เพราะค่อนข้างจะยุ่งยาก โดยเริ่มรับออร์เดอร์ตั้งแต่ 09.30 น. ส่วนที่ผมใส่ตัวเลข หลาย ๆ ตัว นั่นคือเวลาที่ตลาดจะสุ่มเปิดครับ ซึ่งสามารถสุ่มเวลาเปิดได้ตามเวลาที่แจ้งไว้ครับ คือตั้งแต่ 09.55 น. จนถึง 10.00 น. สามารถเปิดได้ในนาทีใด นาทีหนึ่งตามนั้นเลยครับ คำสั่ง ATO จะส่งได้ช่วงนี้ครับ

- Open [09.55, 09.56, 09.57, 09.58, 09.59, 10.00] น. - 12.30 น. เป็นช่วงเวลาซื้อขายภาคเช้าครับ จนถึง 12.30 น. ตลาดจะปิดเที่ยงครึ่งเป๊ะ ๆ เลยครับ

ช่วงบ่าย แบ่งได้ 4 ช่วงครับ

- Pre Open 14.00 น. - [14.25, 14.26, 14.27, 14.28, 14.29, 14.30] น. คล้ายกับช่วงเช้าครับ คือสุ่มราคาและรับออร์เดอร์ก่อนเปิดตลาดบ่ายครับคำสั่ง ATO จะส่งได้ในช่วงนี้เช่นกันครับ

- Open [14.25, 14.26, 14.27, 14.28, 14.29, 14.30] น. - 16.30 น. จะเป็นการซื้อขายภาคบ่ายโดยจะหยุดการซื้อขายในตอน 16.30 น. เพื่อเข้าช่วงที่สามครับ

- Pre Close 16.30 น. - [16.35, 16.36, 16.37, 16.38, 16.39, 16.40] น. ช่วง 16.30 จะเป็นการคำนวณราคาปิดไปเรื่อย ๆ โดยใช้หลักการคล้าย ๆ กับช่วง Pre Open ครับ โดย ใน 5 นาที สุดท้ายจะสุ่มเวลาปิดตรงนาทีใดก็ได้ แต่ไม่เกิน 16.40 น. ครับ คำสั่ง ATC จะส่งได้ในช่วงนี้เท่านั้นครับ

- 16.40 น. - 17.00 น. จริง ๆ ผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะคิดว่า ช่วงนี้ตลาดปิดไปแล้ว แต่ไม่ใช่ครับ ตลาดยังเปิดอยู่ สามารถทำการซื้อขายกันได้ แต่จะเป็นการจับคู่ซื้อขายกันโดยตรงเลย ซึ่งถ้าสังเกตกันจะเป็นว่าจะมี ข้อมูลการเสนอซื้อ เสนอขายขึ้นมา หลังเวลา 16.40 น. โดยจะเป็นการตกลงราคาและจับคู่กันเองครับ ซึ่งจะไม่ทำให้ราคาในกระดานหลักเปลี่ยนแปลง แต่จะเพิ่มเพียงมูลค่าการซื้อขายเท่านั้นครับ ไม่มีผลกับดัชนีฯ ครับผม

** บางครั้งถ้าตลาดมีการปรับตัวลงแรง ก็จะมีเงื่อนไขของ circuit breaker อีกครับ ซึ่งบ้านเราเคยได้ใช้มาแล้ว เมื่อปีที่แล้ว ฮ่าฮ่าฮ่า

วอร์แรนท์ คืออะไร

วอร์แรนท์ (Warrant) คือใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นสามัญ ไม่ใช่หุ้นสามัญนะครับ ซึ่งวอร์แรนท์แต่ละตัว จะต้องมีข้อมูลดังนี้ เพื่อใช้ในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญครับ

- อัตราส่วนแปลงสภาพ คือ เป็นอัตราว่าจะต้องใช้วอร์แรนท์กี่หน่วยในการแปลงสภาพเป็นหุ้น เช่น ข้อมูลบอกว่า อัตราแปลงสภาพ 1 : 1 หมายความว่า ใช้วอร์แรนท์ 1 หน่วยสามารถแปลงสภาพเป็นตัวหุ้นสามัญได้ 1 หุ้นเช่นกันครับ

- ราคาแปลงสภาพ เป็นราคาที่ต้องเพิ่มเงินเพื่อแปลงสภาพเป็นตัวหุ้นสามัญครับ เช่น อัตราแปลงสภาพ 1 : 1 5 บาท คือ วอร์แรนท์ 1 หน่วย บวกเงิน 5 บาท สามารถแปลงสภาพเป็น หุ้นสามัญได้ 1 หุ้นครับ

- วันแปลงสภาพ คือ กำหนดวันว่า วันไหนสามารถที่จะนำตัววอร์แรนท์ไปแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ครับ ซึ่งอาจจะเป็น ทุก ๆ สามเดือนก็ว่ากันไปครับ

- วันหมดอายุ อันนี้ต้องดูให้ดีครับ เป็นวันที่สิ้นสุดของวอร์แรนท์ครับ ถ้าเลยจากวันนี้ไป แปลว่า วอร์แรนท์จะกลายเป็นกระดาษเปล่าทันทีเลยครับ เพราะฉะนั้นการลงทุนในวอร์แรนท์ต้องติดตามให้ดีครับ

ส่วนใหญ่ ตัววอร์แรนท์จะหยุดพักการซื้อขายก่อนวันหมดอายุ 1 เดือนโดยประมาณครับ

ต่อ... ครับผม

วันนึง ๆ หุ้นสามารถขึ้นลงได้เป็นราคาเท่าไหร่

โดยปกติสิ่งที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะมี หลายอย่างครับ ทั้ง หุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ์, กองทุน, วอร์แรนท์ แต่ที่ผมจะยกตัวอย่าง คงเป็นหลัก ๆ ที่เรา ๆ สนใจกันนะครับ

หุ้นสามัญ จะแบ่งเป็นสองประเภทครับ คือ หุ้นสามัญกระดานธรรมดา และ หุ้นสามัญกระดานต่างประเทศ ซึ่งเครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นหุ้นในกระดานต่างประเทศก็คือ -F ที่อยู่ด้านหลังชื่อหุ้นนั่นเองครับ เช่น หุ้นของธนาคารกรุงเทพ กระดานธรรมดาคือ BBL เพราะฉะนั้นห้นของธนาคารกรุงเทพในกระดานต่างประเทศก็คือ BBL-F

หุ้นสามัญกระดานธรรมดา สามารถขึ้นหรือลงได้สูงสุด 30% ของราคาปิดเมื่อวานนี้ครับ ที่เขาเรียกกันว่า ซิลลิ่ง และ ฟลอร์ นั่นเองครับ

**ยกเว้นหุ้นที่มีราคาปิดวันก่อนหน้านี้ต่ำกว่า 0.1 บาท จะขึ้นหรือลงสูงสุดได้ 100% ครับ

- ซิลลิ่งคือราคาสูงสุดที่จะเป็นไปได้ในวันนั้น
- ฟลอร์คือราคาต่ำสุดที่จะเป็นไปได้ในวันนั้น

ตย. ถ้าเมื่อวานนี้ ราคาหุ้น A ปิดที่ 10 บาท เพราะฉะนั้น วันนี้ หุ้น A จะมีการขึ้นได้สูงสุด 13 บาท และลงได้ ต่ำสุด 7 บาท พูดง่าย ๆ ว่า วันนี้ หุ้น A จะซิลลิ่งที่ 13 บาท และ ฟลอร์ที่ 7 บาทครับผม (ใครจะไปตั้งซื้อที่สูงกว่า 13 บาท หรือไปตั้งขายที่ ต่ำกว่า 7 บาท ก็จะไม่ได้ครับ)

หุ้นสามัญกระดานต่างประเทศ อันนี้ผมไม่แน่ใจว่ามีการเปลี่ยนเกณฑ์ไปแล้วยังนะครับ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ หุ้นในกระดานต่างประเทศ จะไม่มีเพดานในการซื้อขายครับ สามารถซื้อขายสูงสุดหรือต่ำสุดในราคาเท่าไหร่ก็ได้ครับ แต่เคยได้ข่าวแว่ว ๆ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแล้วครับ เพราะมีการทำราคากัน

วอร์แรนท์ ล่ะ สามารถขึ้นลงวันนี้ได้เท่าไหร่ 30 % เหมือนหุ้นสามัญหรือไม่ ไม่ใช่นะครับ สำหรับวอร์แรนท์ให้เอาหุ้นตัวแม่เป็นหลัก (หุ้นตัวแม่ คือหุ้นที่นำวอร์แรนท์ไปแปลงสภาพแล้วได้หุ้นสามัญของตัวนั่นแหละครับ) ถ้าตัวแม่สามารถขึ้นหรือลงได้เท่าไหร่ ตัววอร์แรนท์ก็จะขึ้นลงได้ตามตัวแม่นั่นแหละครับ

ตย. หุ้น A ราคาปิดเมื่อวาน 10 บาท ซิลลิ่ง 13 บาท ฟลอร์ 7 บาท ถ้าวอร์แรนท์ของหุ้น A มีราคาปิดเมื่อวาน 5 บาท เพราะฉะนั้น วอร์แรนท์ของหุ้น A จะมีราคาซิลลิ่ง = 5+3 คือ 8 บาท ในขณะที่มีราคาฟลอร์ = 5-3 คือ 2 บาทครับผม

โค๊ด: [Select]
http://satnumber.forums-free.com/topic-t203.html
  • Tamol

  • ****
  • สถานะ: ออฟไลน์
  • พลังน้ำใจ: 1 | กระทู้ 250
  • เพศ: ไม่ระบุ
วิธีเปิดบัญชี forex exness อย่างละเอียด 2024 ทีละขั้นตอน | วิธีสมัคร Forex Update 2567



 

SMF 2.0.15 | SMF © 2011, Simple Machines
SMFAds for Free Forums